วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โรงเรือนขนาดเล็กจากท่อ PVC

โรงเรือนขนาดเล็กจากท่อ PVC


โรงเรือนหลังนี้จะเป็นทรงผนังโค้ง ทรงนี้สร้างง่ายมาก เพราะไม่ต้องใช้ข้อต่อใดๆเลย ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน แต่จะมีข้อเสียตรงที่ผนังโรงเรือนมีความโค้ง ดังนั้นต้องคลุมพลาสติกมาปิดผนังด้านข้างด้วย ไม่งั้นฝนตกน้ำฝนจะไหลเข้าโรงเรือนได้ ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนรูปแบบนี้จะสูงกว่ารูปแบบอื่นๆ

โรงเรือนรูปแบบนี้สามารถสร้างได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ (กว้าง 6M สูง 3.5M) แต่หากทำโรงเรือนขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้ท่อพีวีซีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย และอาจต้องใช้ไม้เสริมความแข็งแรงในบางจุด

โรงเรือนนี้เราตั้งไว้หน้าบ้าน เป็นโรงเรือนขนาดเล็กๆ ไว้ปลูกผักกินเอง ขนาดโรงเรือน กว้าง x ยาว x สูง = 2.2 x 2.8 x 1.8 M

ขั้นตอนในการประกอบโรงเรือนออกเป็น
    
1.ส่วนฐาน

            เริ่มต้นส่วนฐาน
เราใช้อิฐบล็อกมาวางต่อกันเป็นแปลงสองแปลงขนานกันมีทางเดินกั้นกลาง ความกว้างของแปลงก็อย่าก่อกว้างเกินไป ไม่งั้นจะเอื้อมไปทำงานลำบาก <เราวางอิฐต่อกันเฉยๆไม่ได้ก่อปูนแต่อย่างใด> ข้อดีของการใช้อิฐบล็อกคือ มันสามารถปักท่อ PVC ลงในช่องอิฐได้พอดี จะง่ายเวลาขึ้นโครงดัดโค้ง ก็สามารถปักท่อลงในช่องอิฐบล็อก 2 ฝั่งได้เลย
   
2.ส่วนโครงท่อ PVC
    
            ส่วนโครงโรงเรือน ใช้เป็นท่อ PVC ขนาด 4 หุนทั้งหมด ตัวโครงจะประกอบด้วยท่อ 3 ส่วน คือแนวโค้ง แนวนอน และแนวตั้ง 

  • โครงแนวโค้ง ใช้ท่อ PVC ความยาว 4.65 M พอดัดให้โค้งแล้วจะได้ความสูง 1.8 M ถ้าอยากให้โรงเรือนมีความสูงมากขึ้นก็สามารถเพิ่มความยาวท่อได้ แต่พอดีเราเตี้ย 55 <จริงๆเหตุผลหลักคือโรงนี้ตั้งอยู่หน้าบ้านพอดี ถ้าทำสูงก็กลัวจะบังลมเข้าบ้าน> โดยแต่ละโค้งปักห่างกันประมาณ 80 cm กำลังดี ถ้าปักห่างเกินไปโครงสร้างจะไม่ค่อยแข็งแรง
  • ส่วนแนวนอนเราใช้ท่อ PVC ยึดเส้นโค้งแต่ละโค้งเข้าด้วยกัน การยึดท่อเข้าด้วยกันเราใช้ คลิปก้ามปู ติดกับท่อโดยใช้สกรูเกรียวปล่อย  ถ้าเราตั้งเส้นโค้ง 4 เส้น โครงแนวนอนเราต้องติดคลิปก้ามปูทั้งหมด 4 จุดตามระยะที่เราปักโค้งไว้ จากนั้นก็เอาไปงับไว้กับท่อแนวโค้ง <บางคนก็ใช้ลวดรัดเอา แต่เราทำคนเดียว ใช้ก้ามปูมันง่ายดี กดล็อก กดล็อก ไม่ต้องมีคนมาช่วยจับ> ถ้าเส้นแนวนอนน้อย เวลาคลุมพลาสติก พลาสติกจะไม่ค่อยตึง เราเลยติดถี่หน่อยเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของโรงเรือนด้วย


  • ส่วนโครงแนวตั้ง มีไว้เพื่อเปิดเป็นทางเข้าออก ใช้คลิปก้ามปูยึดท่อโค้งด้านบนไว้ ส่วนด้านล่างปักลงในอิฐบล็อก
            หลังประกอบโครงเสร็จ เรากรอกปูนลงในช่องอิฐบล็อกด้วย เพื่อยึดท่อไม่ให้มันเขยื้อนได้ 

3.ส่วนผนังคลุมรอบโรงเรือน

          
การยึดพลาสติกและมุ้งกันแมลงเข้ากับโครง PVC ใช้ตัวคลิปล็อกโรงเรือน ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีลมพัดแรงก็ติดถี่หน่อย ส่วนที่เป็นทางเข้าออก เราใช้การเปิดปิดมุ้งเอา โดยใช้คลิปก้ามปูหนีบไว้เฉยๆ เวลาจะเปิดก็เอาตัวหนีบออก 
            สุดท้ายเก็บปลายมุ้งด้านล่างให้เรียบร้อยโดยใช้อิฐบล็อกทับไว้กันพลาสติกกระพือ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น พร้อมที่จะปลูกผักได้


            หลังจากลองปลูกผักไปสักรุ่นสองรุ่น รู้สึกว่าโรงเรือนมันร้อนเกินไปหน่อย ตอนเที่ยงวันแดดเปรี้ยงๆผักพากันสลดหมด เราเลยตัดพลาสติกด้านล่างออกแล้วติดมุ้งเข้าไปแทน ให้มีช่องระบายอากาศด้านล่างพาอากาศเย็นเข้ามาบ้าง (แต่ฝนตกน้ำก็จะเข้ามาด้วย) 
            ที่จริงยังมีอีกหลายวิธีในการลดอุณหภูมิ เช่นติดหัวพ่นหมอก สเปรย์น้ำในโรงเรือน รึว่าจะติดสแลนพลางแสงก็จะลดความร้อนได้เหมือนกัน



รุปค่าใช้จ่าย

  • ท่อ PVC 4 หุน ความหนา 8.5 12 เส้น x 45 = 540
  • ข้อต่อตรง 4 หุน 6 อัน x 3 = 18
  • อิฐบล็อก 50 ก้อน x 5.5 = 275
  • คลิปล็อกโรงเรือน 52 อัน x 3 = 156
  • คลิปก้ามปู 4หุน 34 อัน x 2 = 68
  • สกรูเกลียวปล่อย ขนาด 8x3/4 34 ตัว x 0.35 = 12
  • พลาสติกคลุมหลังคาขนาด 3x5M หนา 200 ไมครอน กัน UV 5℅ = 529
  • มุ้งกันแมลง 32 ตา หน้ากว้าง 3M กัน UV 3℅ ราคาเมตรละ 95 บาท x 4M = 380
รวมทั้งหมด 💲1,978 บาท 😱ใช้ไปเยอะขนาดนี้เชียวรึนี่ โรงเรือนนี้เป็นโรงเรือนหลังแรกที่เราสร้าง ของทุกอย่างซื้อมาแพงกว่าปกติเกือบทุกตัวเลย 55 ฮือๆ ก็สมัยก่อนของหาซื้อยากและยังไม่รู้ราคานิ

            มุ้งกันแมลงมีความถี่ของมุ้งหลากหลาย ตั้งแต่ 16, 20, 32, 40, 50 ตาต่อตารางนิ้ว ยิ่งตาถี่ก็จะสามารถกันแมลงได้มากขึ้น แต่ลมจะผ่านเข้าได้น้อยลง ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงกว่าแบบตาห่าง แน่นอนราคาก็แพงกว่าด้วย มุ้งมีหน้ากว้างหลาย size 1.2, 2, 2.5, 3M แต่ก่อนหาร้านแบ่งขายลำบาก ส่วนใหญ่ต้องซื้อยกม้วน 30, 50M (ไม่เหมือนปัจจุบันมีแบ่งขายหลายร้านมาก หาซื้อของได้ง่ายขึ้นเยอะ) เราเลยจำใจต้องซื้อหน้ากว้าง 3M มา เหลือเศษก็เก็บไว้ใช้ทำอย่างอื่นต่อไป
            พลาสติก และมุ้งกันแมลง จะผสมสารกัน UV ไว้ ไม่ได้ช่วยปกป้องผักแต่อย่างใด 🌱 หน้าที่ของมันคือช่วยยืดอายุการใช้งานของพลาสติกและมุ้งเมื่อโดยแสงแดด ไม่ให้กรอบแตกก่อนเวลาอันควร มีผสมสารกััน UV ตั้งแต่ 3, 5, 7℅ ให้ดีควรเลือกที่ผสมสารกันยูวีไว้เยอะๆ
            จากที่ลองใช้มาโรงเรือนทรงนี้ร้อนกว่าทรงผนังตรงเยอะอยู่ ใช้ปลูกพวกคะน้า กะหล่ำปลีพอได้อยู่ แต่ถ้าเป็นผักสลัดแล้ว ไม่เหมาะเลยเพราะจะร้อนเกินไป ควรปลูกในโรงเรือนทรงผนังตรงจะดีกว่า

            ท่านใดสนใจสร้างโรงเรือนด้วยตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทางเรามีคอร์สออนไลน์สอนสร้างโรงเรือนจากท่อพีวีซีทรงผนังตรงหลังคาโค้ง ขนาด กxยxส 3x4x3 m ด้วยนะคะ มีแบบให้พร้อมวีดีโอสอนการสร้างอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประกอบท่อ คลุมมุ้ง คลุมพลาสติกหลังคา เตรียมฐาน ฯลฯ รับประกันความแข็งแรง ผ่านการสร้างจริงใช้งานจริงมาแล้วหลายหลัง พร้อมแบบโรงเรือนขนาด 2x2.6 เมตร แถมให้ฟรีอีกหนึ่งชุด มีค่าลงทะเบียน 599 บาท 
สามารถอ่านรายละเอียดและสมัครเรียนได้หลายช่องทาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น