วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

สร้างโรงเรือนจากท่อ PVC ด้วยตัวเอง

สร้างโรงเรือนจากท่อ PVC ด้วยตัวเอง

โรงเรือนจากท่อ PVC

โรงเรือนจากท่อพีวีซี หากออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรง และเตรียมฐานให้มั่นคงแล้ว จะมีอายุการใช้งานได้มากกว่า 10 ปีกันเลยทีเดียว โรงเรือนในรูปจะเป็นทรงผนังตรงหลังคาโค้ง โครงสร้างไม่ซับซ้อนเท่าทรงหลังคาจั่วสองชั้น สามารถสร้างได้เองคนเดียวได้ไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย ผู้หญิงก็ทำได้ 

การออกแบบ
การออกแบบโรงเรือนควรออกแบบให้เหมาะสมกับพืชที่ต้องการปลูก โรงเรือนหลังนี้ตั้งใจสร้างเพื่อปลูกเมล่อน กำหนดความกว้างไว้ที่ 3 เมตร จะได้แบ่งแปลงปลูกออกเป็นได้สามแปลงพอดี  ส่วนความยาว คือ 4 เมตร เพราะพื้นที่มีจำกัด  ส่วนความสูงนั้นหากใช้ปลูกเมล่อน ควรทำค้างสูงสัก 2.5 เมตร ให้ต้นเมล่อนเลื้อยพันขึ้นไปมีใบที่เยอะหน่อย นั่นหมายถึงเสาโรงเรือนควรสูงสัก 2.5 เมตร และมีส่วนของหลังคาโค้งยกสูงขึ้นไปอีก 1 เมตร เพื่อมีช่องว่างไม่ให้ไอความร้อนจากหลังคาลงมาโดนใบเมล่อนตรงๆ แต่ด้วยบันไดเรามีอยู่ มันสูงไม่พอ ดังนั้นเลยลดความสูงของเสาลงเหลือ 1.8 เมตร และหลังคาโค้งสูงขึ้นอีก 1 เมตร ก็ยังปลูกเมล่อนได้อยู่โดยอาจเลื้ยงแขนงเพิ่มให้มันมีใบเยอะขึ้นเนื่องจากความสูงจำกัด

พื้นที่ที่ตั้งโรงเรือนควรเลือกที่ที่โดนแดดทั้งวันเพราะเมล่อนหรือพืชผักส่วนใหญ่ มักชอบแดดเต็มวัน ถ้าไม่ค่อยโดนแดด เมล่อนจะติดลูกยากกกก

การเลือกขนาดท่อ PVC ที่มาทำโรงเรือน ตอนแรกเราลังเลระหว่างท่อขนาด 6 หุน กับท่อ 1 นิ้ว ถ้าใช้ท่อขนาด 1 นิ้ว โรงเรือนจะแข็งแรงกว่า แต่ค่าวัสดุอุปกรณ์จะสูงขึ้นอีกเยอะเลย สุดท้ายก็เลยเลือกท่อ 6 หุน พอสร้างออกมาแล้ว ดูแข็งแรงใช้ได้เลยทีเดียว โรงเรือนขนาดนี่ใช้เป็นท่อ 6 หุนก็เพียงพอแล้ว สรุปคือโรงเรือนนี้ กว้าง x ยาว x สูง = 3 x 4 x 2.8 เมตร สร้างจากท่อพีวีซี ขนาดหกหุน

โรงเรือนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

1. ส่วนฐาน


ฐานโรงเรือนเป็นเรื่องสำคัญมากกก เพราะโรงเรือนที่สร้างจากท่อ PVC มีน้ำหนักเบา หากทำฐานไว้ไม่แข็งแรงดีพอ ก็มีโอกาสที่โรงเรือนจะพลิกคว่ำได้

เราใช้อิฐบล็อกวางเรียงต่อกันเป็นแปลง ขนาดที่ออกแบบไว้คือ 3x4 เมตร จะใช้อิฐ 8 ก้อนเรียงตามแนวกว้าง และ 10 ก้อนตามแนวยาว  ที่ใช้อิฐบล็อกเรียงเป็นฐานเพื่อจะได้ปักท่อ PVC ลงในช่องอิฐได้ ตอนประกอบจะง่ายเหมือนมีขาตั้งในตัว หลังประกอบเสร็จก็เทปูนลงในช่องอิฐบล็อกเพื่อยึดท่อกับก้อนอิฐเอาไว้ ก็จะได้ฐานที่มั่นคงแข็งแรง พายุพัดต้นไม้ล้มก็ผ่านมาแล้ว แต่โรงเรือนยังอยู่

2.ส่วนโครงท่อ PVC แบ่งเป็น
  • โครงด้านหน้า

  • โครงด้านหลัง

ด้านหลังก็เหมือนด้านหน้าเพียงแต่ต่อท่อปิดช่องตรงประตูเข้าไป
  • โครงด้านข้าง

โครงสร้างโรงเรือนหากใช้ที่ขนาดหกหุน ไม่ควรใช้ท่อตรงๆเส้นเดียวมาทำเป็นเสา แต่ควรซอยออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมย่อยๆ ยิ่งแบ่งช่องถี่ความแข็งแรงของโครงสร้างก็จะมากตาม แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามไปด้วย เราเลยซอยออกเป็นช่องถี่ๆเฉพาะตรงมุมเพื่อเพิ่มควาแข็งแรงให้กับโรงเรือน แบบว่าลมแถวนี้แรงมาก เคยพัดจนต้นไม้ใหญ่ล้มมาหลายต้นแล้ว เราก็เลยอออกแบบเน้นความแข็งแรงไว้ก่อน ส่วนความประหยัดไว้ทีหลัง 

ใครที่เคยสร้างโรงเรือนจากท่อ PVC แล้วดูง้องแง้ง อาจเป็นเพราะประหยัดโครงสร้างเกินไป เว้นระยะห่างระหว่างเสามากเกินไป ทำให้โครงสร้างล้มพับได้ง่าย ไม่เฉพาะกับโรงเรือนพีวีซี ถึงเป็นโครงสร้างเหล็กก็มีโอกาสล้มพับได้เหมือนกันมีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ
  • โครงหลังคา

เส้นหลังคาจะดัดโค้งโดยต่อเข้ากับข้องอ 45 องศา  ต่อทั้งหมด 6 เส้นด้วยกันตามแนวเสา และยึดหลังคาโค้งแต่ละเส้นเข้าด้วยกัน โดยใช้ท่อพาดไปตามแนวนอน จะทำให้โครงหลังคามีความแข็งแรงมากขึ้น
  • การประกอบร่าง



การต่อท่อ PVC เข้ากับข้อต่อนั้นเราใช้น้ำยาประสานท่อ PVC <กาวทาท่อ>  การใช้กาวจะแน่นกว่าการยิงสกรู กาวจะไปละลายเนื้อพลาสติกทำให้ท่อและข้อต่อเชื่อมติดกัน แต่กาวจะแห้งค่อนข้างเร็ว เราจะมีเวลาแป๊บเดียวที่จะหมุน จัดตำแหน่งของข้อต่อ หลังกาวแห้งแล้วเราจะไม่สามารถขยับได้อีก ถ้าต่อเปี้ยว ทางแก้ก็คือตัดแล้วต่อใหม่เท่านั้น 

ราต่อโครงผนังแยกเป็นส่วนๆ คือ ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างสองแผง โดยต่อที่พื้นราบก่อน แล้วค่อยยกตั้งขึ้นเพื่อนำแต่ละส่วนมาประกอบเข้ามุมกันอีกทีนึง
หลังประกอบโครงผนังเสร็จแล้ว ก็มาต่อส่วนของหลังคาโค้ง  และเส้นยึดโครงหลังคาในแนวนอนและแนวตั้ง เพื่อเสริมให็โครงสร้างยึดกันแน่นหนามากขึ้น
                

3.ส่วนห่อหุ้มโรงเรือน

ส่วนห่อหุ้มโรงเรือนจะประกอบด้วย มุ้งคลุมผนัง และพลาสติกคลุมหลังคา ยกขั้นตอนนี้ให้เป็นขั้นตอนที่เหนื่อยที่สุดในการสร้างโรงเรือน ทั้งๆที่ดูไม่น่าเหนื่อยเลย มุ้ง พลาสติกก็ดูเบาๆ แต่ตอนกดคลิปล็อคเพื่อยึดเข้ากับท่อใช้แรงไม่เบาเลยทีเดียว คลิปล็อคมีหลายประเภทควรเลือกใช้แบบไม่มีสปริงจะล็อคได้แน่นมากกว่า (ความจริงมีอีกวิธีที่ใช้ยึดพลาสติกกับมุ้งได้ คือการใช้รางและสปริงซึ่งจะยึดแน่นกว่าคลิปล็อกใช้งานง่ายกว่า แต่ราคาจะสูงกว่าพอสมควร)

ติดมุ้งรอบๆโรงเรือนและส่วนหน้าจั่วของหลังคาโค้งทั้งด้านหน้าและหลัง โดยใช้คลิปล็อกโรงเรือนงับมุ้งกับท่อไว้ด้วยกัน 
ด้านข้างเป็นเป็นมุ้งกันแมลงตลอดความสูงของผนังทำให้มีการไหลเวียนของอากาศและความร้อนได้ดีกว่าดีกว่าโรงเรือนแบบผนังโค้งที่เราเห็นกันทั่วไป ซึ่งจะใช้ท่อพีวีซีเส้นเดียวมาดัดโค้งเป็นทั้งโครงหลังคาและผนังโรงเรือน
สร้างโรงเรือนด้วยตัวเอง

การคลุมหลังคา ควรเผื่อความยาวของพลาสติกไว้ด้วย เพราะตอนกดคลิปล็อกโรงเรือนยึดพลาสติกกับท่อมันจะกินพลาสติกเข้าไป ระยะของพลาสติกจะหายไป ถ้าเราซื้อขนาดมาพอดีมันจะคลุมหลังคาได้ไม่มิด และตอนคลุมเสร็จควรมีชายหลังคาแต่ละด้านเหลือไว้ประมาณข้างละ 15-20 เซ็น เผื่อฝนตกน้ำจากหลังคาจะได้ไม่ไหลตามมุ้งเข้ามาในโรงเรือน 

ประตู
ประตูควรคลุมมุ้งให้เหลือชายออกมาประมาณสองนิ้ว เพื่อเวลาปิดประตูมุ้งส่วนที่ยื่นออกมาจะช่วยปิดช่องว่างตรงร่องประตู ไม่ให้แมลงตัวเล็กตัวน้อยแอบมุดเข้ามา จากนั้นติดประตูให้โรงเรือนโดยใช้ บานพับ เราใช้บานพับตัวเล็กที่เค้าใช้ประกอบตู้ เพราะถ้าใช้บานพับประตูตัวใหญ่ช่องว่างระหว่างประตูจะเยอะ และตัวประตู ท่อ PVC นั้นน้ำหนักมันไม่มากใช้บานพับตัวเล็กก็เพียงพอแล้ว การต่อบานพับก็ยึดด้วยสกรูเกรียวปล่อย จากนั้นก็ติดกลอนประตูเข้าไป ก็เป็นอันเสร็จสิ้น


สรุปค่าใช้จ่าย
  • อิฐบล็อค 155 ก้อน x 5.5 = 852.5 (ก่อฐาน และแปลงภายใน)
  • ท่อ PVC 6 หุน 30 เส้น x 48 = 1440
  • ท่อ PVC 4 หุน 9 เส้น x 38 = 342 
  • สี่ทางฉาก 6 หุน 20 ตัว x 14 = 280
  • สี่ทางบวก 6 หุน 46 ตัว x 13 = 598
  • สามทาง 6 หุน 30 ตัว x 7 = 210
  • คลิปก้ามปู 6 หุน 82 ตัว x 2.5 = 205
  • งอ 90° 4 หุน 4 ตัว x 2.75 = 11
  • สามทาง 4 หุน 2 ตัว x 4.5 = 9
  • กาวทาท่อ PVC จำราคามะได้
  • สกรูเกลียวปล่อย ขนาด 8x3/4 52 ตัว x 0.35 = 18.2
  • พลาสติก หนา 0.2 mm กัน uv 5℅ ขนาด 4x5M = 617
  • มุ้งกันแมลง 40 ตา หน้ากว้าง 3M ยาว 17 เมตร ราคาเมตรละ 100 = 1700
  • คลิปล็อกโรงเรือน 6 หุน 82 อัน x 3.4 = 278
  • คลิปล็อกโรงเรือน 4 หุน 30 อัน x 3 = 90
รวมทั้งสิ้น 6,651 บาท 

ราคาค่าของแปรผันตามเกรดของวัสดุที่เลือกใช้ อย่างพลาสติกมีหลายความหนา มุ้งก็มีตาถี่ ตาห่าง ราคาแตกต่างกัน ส่วนท่อกับข้อต่อ ถ้าหาร้านขายส่งได้ราคาก็จะถูกลง

โรงเรือนหลังนี้ตั้งใจสร้างเพื่อปลูกเมล่อน แต่สุดท้ายก็ปลูกมั่วไปหมด 55😀 มีทั้งแคนตาลูป แตงโม ผักสลัด มะเขือเทศ ปลูกได้ทุกอย่างที่อยากกิน 🐥🐥🐥  



คอร์สเรียนสอนสร้างโรงเรือนจากท่อพีวีซี

ท่านใดสนใจสร้างโรงเรือนด้วยตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทางเรามีคอร์สออนไลน์สอนสร้างโรงเรือนจากท่อพีวีซี ขนาด กxยxส 3x4x3 m ด้วยนะคะ มีแบบให้พร้อมวีดีโอสอนการสร้างอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประกอบท่อ คลุมมุ้ง คลุมพลาสติกหลังคา เตรียมฐาน ฯลฯ รับประกันความแข็งแรง ผ่านการสร้างจริงใช้งานจริงมาแล้วหลายหลัง พร้อมแบบโรงเรือนขนาด 2x2.6 เมตร แถมให้ฟรีอีกหนึ่งชุด มีค่าลงทะเบียน 599 บาท 
สามารถอ่านรายละเอียดและสมัครเรียนได้หลายช่องทาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

โรงเรือนขนาดเล็กจากท่อ PVC

โรงเรือนขนาดเล็กจากท่อ PVC


โรงเรือนหลังนี้จะเป็นทรงผนังโค้ง ทรงนี้สร้างง่ายมาก เพราะไม่ต้องใช้ข้อต่อใดๆเลย ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน แต่จะมีข้อเสียตรงที่ผนังโรงเรือนมีความโค้ง ดังนั้นต้องคลุมพลาสติกมาปิดผนังด้านข้างด้วย ไม่งั้นฝนตกน้ำฝนจะไหลเข้าโรงเรือนได้ ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนรูปแบบนี้จะสูงกว่ารูปแบบอื่นๆ

โรงเรือนรูปแบบนี้สามารถสร้างได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ (กว้าง 6M สูง 3.5M) แต่หากทำโรงเรือนขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้ท่อพีวีซีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย และอาจต้องใช้ไม้เสริมความแข็งแรงในบางจุด

โรงเรือนนี้เราตั้งไว้หน้าบ้าน เป็นโรงเรือนขนาดเล็กๆ ไว้ปลูกผักกินเอง ขนาดโรงเรือน กว้าง x ยาว x สูง = 2.2 x 2.8 x 1.8 M

ขั้นตอนในการประกอบโรงเรือนออกเป็น
    
1.ส่วนฐาน

            เริ่มต้นส่วนฐาน
เราใช้อิฐบล็อกมาวางต่อกันเป็นแปลงสองแปลงขนานกันมีทางเดินกั้นกลาง ความกว้างของแปลงก็อย่าก่อกว้างเกินไป ไม่งั้นจะเอื้อมไปทำงานลำบาก <เราวางอิฐต่อกันเฉยๆไม่ได้ก่อปูนแต่อย่างใด> ข้อดีของการใช้อิฐบล็อกคือ มันสามารถปักท่อ PVC ลงในช่องอิฐได้พอดี จะง่ายเวลาขึ้นโครงดัดโค้ง ก็สามารถปักท่อลงในช่องอิฐบล็อก 2 ฝั่งได้เลย
   
2.ส่วนโครงท่อ PVC
    
            ส่วนโครงโรงเรือน ใช้เป็นท่อ PVC ขนาด 4 หุนทั้งหมด ตัวโครงจะประกอบด้วยท่อ 3 ส่วน คือแนวโค้ง แนวนอน และแนวตั้ง 

  • โครงแนวโค้ง ใช้ท่อ PVC ความยาว 4.65 M พอดัดให้โค้งแล้วจะได้ความสูง 1.8 M ถ้าอยากให้โรงเรือนมีความสูงมากขึ้นก็สามารถเพิ่มความยาวท่อได้ แต่พอดีเราเตี้ย 55 <จริงๆเหตุผลหลักคือโรงนี้ตั้งอยู่หน้าบ้านพอดี ถ้าทำสูงก็กลัวจะบังลมเข้าบ้าน> โดยแต่ละโค้งปักห่างกันประมาณ 80 cm กำลังดี ถ้าปักห่างเกินไปโครงสร้างจะไม่ค่อยแข็งแรง
  • ส่วนแนวนอนเราใช้ท่อ PVC ยึดเส้นโค้งแต่ละโค้งเข้าด้วยกัน การยึดท่อเข้าด้วยกันเราใช้ คลิปก้ามปู ติดกับท่อโดยใช้สกรูเกรียวปล่อย  ถ้าเราตั้งเส้นโค้ง 4 เส้น โครงแนวนอนเราต้องติดคลิปก้ามปูทั้งหมด 4 จุดตามระยะที่เราปักโค้งไว้ จากนั้นก็เอาไปงับไว้กับท่อแนวโค้ง <บางคนก็ใช้ลวดรัดเอา แต่เราทำคนเดียว ใช้ก้ามปูมันง่ายดี กดล็อก กดล็อก ไม่ต้องมีคนมาช่วยจับ> ถ้าเส้นแนวนอนน้อย เวลาคลุมพลาสติก พลาสติกจะไม่ค่อยตึง เราเลยติดถี่หน่อยเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของโรงเรือนด้วย


  • ส่วนโครงแนวตั้ง มีไว้เพื่อเปิดเป็นทางเข้าออก ใช้คลิปก้ามปูยึดท่อโค้งด้านบนไว้ ส่วนด้านล่างปักลงในอิฐบล็อก
            หลังประกอบโครงเสร็จ เรากรอกปูนลงในช่องอิฐบล็อกด้วย เพื่อยึดท่อไม่ให้มันเขยื้อนได้ 

3.ส่วนผนังคลุมรอบโรงเรือน

          
การยึดพลาสติกและมุ้งกันแมลงเข้ากับโครง PVC ใช้ตัวคลิปล็อกโรงเรือน ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีลมพัดแรงก็ติดถี่หน่อย ส่วนที่เป็นทางเข้าออก เราใช้การเปิดปิดมุ้งเอา โดยใช้คลิปก้ามปูหนีบไว้เฉยๆ เวลาจะเปิดก็เอาตัวหนีบออก 
            สุดท้ายเก็บปลายมุ้งด้านล่างให้เรียบร้อยโดยใช้อิฐบล็อกทับไว้กันพลาสติกกระพือ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้น พร้อมที่จะปลูกผักได้


            หลังจากลองปลูกผักไปสักรุ่นสองรุ่น รู้สึกว่าโรงเรือนมันร้อนเกินไปหน่อย ตอนเที่ยงวันแดดเปรี้ยงๆผักพากันสลดหมด เราเลยตัดพลาสติกด้านล่างออกแล้วติดมุ้งเข้าไปแทน ให้มีช่องระบายอากาศด้านล่างพาอากาศเย็นเข้ามาบ้าง (แต่ฝนตกน้ำก็จะเข้ามาด้วย) 
            ที่จริงยังมีอีกหลายวิธีในการลดอุณหภูมิ เช่นติดหัวพ่นหมอก สเปรย์น้ำในโรงเรือน รึว่าจะติดสแลนพลางแสงก็จะลดความร้อนได้เหมือนกัน



รุปค่าใช้จ่าย

  • ท่อ PVC 4 หุน ความหนา 8.5 12 เส้น x 45 = 540
  • ข้อต่อตรง 4 หุน 6 อัน x 3 = 18
  • อิฐบล็อก 50 ก้อน x 5.5 = 275
  • คลิปล็อกโรงเรือน 52 อัน x 3 = 156
  • คลิปก้ามปู 4หุน 34 อัน x 2 = 68
  • สกรูเกลียวปล่อย ขนาด 8x3/4 34 ตัว x 0.35 = 12
  • พลาสติกคลุมหลังคาขนาด 3x5M หนา 200 ไมครอน กัน UV 5℅ = 529
  • มุ้งกันแมลง 32 ตา หน้ากว้าง 3M กัน UV 3℅ ราคาเมตรละ 95 บาท x 4M = 380
รวมทั้งหมด 💲1,978 บาท 😱ใช้ไปเยอะขนาดนี้เชียวรึนี่ โรงเรือนนี้เป็นโรงเรือนหลังแรกที่เราสร้าง ของทุกอย่างซื้อมาแพงกว่าปกติเกือบทุกตัวเลย 55 ฮือๆ ก็สมัยก่อนของหาซื้อยากและยังไม่รู้ราคานิ

            มุ้งกันแมลงมีความถี่ของมุ้งหลากหลาย ตั้งแต่ 16, 20, 32, 40, 50 ตาต่อตารางนิ้ว ยิ่งตาถี่ก็จะสามารถกันแมลงได้มากขึ้น แต่ลมจะผ่านเข้าได้น้อยลง ทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงกว่าแบบตาห่าง แน่นอนราคาก็แพงกว่าด้วย มุ้งมีหน้ากว้างหลาย size 1.2, 2, 2.5, 3M แต่ก่อนหาร้านแบ่งขายลำบาก ส่วนใหญ่ต้องซื้อยกม้วน 30, 50M (ไม่เหมือนปัจจุบันมีแบ่งขายหลายร้านมาก หาซื้อของได้ง่ายขึ้นเยอะ) เราเลยจำใจต้องซื้อหน้ากว้าง 3M มา เหลือเศษก็เก็บไว้ใช้ทำอย่างอื่นต่อไป
            พลาสติก และมุ้งกันแมลง จะผสมสารกัน UV ไว้ ไม่ได้ช่วยปกป้องผักแต่อย่างใด 🌱 หน้าที่ของมันคือช่วยยืดอายุการใช้งานของพลาสติกและมุ้งเมื่อโดยแสงแดด ไม่ให้กรอบแตกก่อนเวลาอันควร มีผสมสารกััน UV ตั้งแต่ 3, 5, 7℅ ให้ดีควรเลือกที่ผสมสารกันยูวีไว้เยอะๆ
            จากที่ลองใช้มาโรงเรือนทรงนี้ร้อนกว่าทรงผนังตรงเยอะอยู่ ใช้ปลูกพวกคะน้า กะหล่ำปลีพอได้อยู่ แต่ถ้าเป็นผักสลัดแล้ว ไม่เหมาะเลยเพราะจะร้อนเกินไป ควรปลูกในโรงเรือนทรงผนังตรงจะดีกว่า

            ท่านใดสนใจสร้างโรงเรือนด้วยตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทางเรามีคอร์สออนไลน์สอนสร้างโรงเรือนจากท่อพีวีซีทรงผนังตรงหลังคาโค้ง ขนาด กxยxส 3x4x3 m ด้วยนะคะ มีแบบให้พร้อมวีดีโอสอนการสร้างอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประกอบท่อ คลุมมุ้ง คลุมพลาสติกหลังคา เตรียมฐาน ฯลฯ รับประกันความแข็งแรง ผ่านการสร้างจริงใช้งานจริงมาแล้วหลายหลัง พร้อมแบบโรงเรือนขนาด 2x2.6 เมตร แถมให้ฟรีอีกหนึ่งชุด มีค่าลงทะเบียน 599 บาท 
สามารถอ่านรายละเอียดและสมัครเรียนได้หลายช่องทาง